แผลกดทับ เกิดจากการที่มีการกดทับบริเวณผิวหนังเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนังลดลงและเกิดการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อ มักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ค่อยรู้สึกตัว ช่วยตนเองหรือเคลื่อนไหวไม่ได้
“การดำเนินโรค”
เมื่อผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับ ขาดเลือดไปเลี้ยงได้ราวๆ 2-3 ชั่วโมง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเริ่มตาย เจ็บ เปลี่ยนเป็นสีแดงหรือม่วง ซึ่งหากทิ้งไว้ไม่รักษา จะเกิดเป็นแผล และติดเชื้อได้ แผลกดทับที่เป็นมาก อาจกินลึกไปได้ถึงชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการรักษานาน
“ตำแหน่งที่เกิดแผลกดทับ”
ที่พบได้บ่อยคือส่วนของร่างกายที่ไม่ค่อยมีไขมัน หรือบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูกเช่น บริเวณก้นกบ ด้านข้างของสะโพก ส้นเท้า ตาตุ่ม
“วิธีป้องกันการเกิดแผลกดทับ”
ให้หมั่นสังเกตดูว่าผิวหนังของผู้ป่วยเริ่มมีรอยแดงหรือไม่ เพราะหากผิวเปลี่ยนสีแดงแสดงว่ามีอาการเริ่มต้นเป็นแผลกดทับ
การป้องกันแผลกดทับที่ดีนั้น ควรมีการพลิกตัวเปลี่ยนท่าผู้ป่วยบ่อยๆ ใช้เตียงลม หรือเบาะรองนุ่มๆ เพื่อลดแรงกดทับ รักษาผิวหนังให้แห้ง และสะอาดเสมอ
“การรักษาแผลกดทับ”
ที่สำคัญควรให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คแผล เพราะในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องการการรักษาเพิ่มเติม หากมีอาการรุนแรงหรือติดเชื้อ แต่โดยหลักแล้วการรักษาแผลกดทับจะเป็นไปตามวิธีการนี้
– ลดแรงกดทับบริเวณแผล เช่นไม่นอนทับตรงบริเวณแผล หรือใช้เบาะนุ่มๆ หรือเตียงลม
– ทำแผลและรักษาแผลให้สะอาด
– ปกป้องบริเวณแผล โดยใช้ผ้าก็อซปิดแผลไว้
– หากแผลใหญ่มาก แพทย์อาจพิจารณาใช้การผ่าตัดรักษาเข้าช่วย
– หากมีการติดเชื้อแพทย์จะพิจารณาใช้ยาฆ่าเชื้อรักษา
– ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีโปรตีน สารอาหารและพลังงาน เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ทำให้แผลกดทับหายเร็ว