กระดูกสะโพกหัก

สาเหตุของกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ มักเกิดจากการหกล้ม ส่วนสาเหตุอื่นๆของกระดูกสะโพกหัก อาจเกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์ เนื้องอก หรือมีการติดเชื้อที่กระดูก

“ปัจจัยเสี่ยง”

ผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกพรุน จะเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกสะโพกหักสูง เพราะโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ทำให้กระดูกบาง อ่อนแอ และหักง่าย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอีก ได้แก่ ผู้ที่เป็นเพศหญิง โดยเฉพาะชาวฝรั่งเชื้อชาติคอเคย์เชี่ยน คนที่มีรูปร่างผอม หรือไม่ใคร่ได้เคลื่อนไหว

“อาการ”

– ปวดที่สะโพกมาก
– ลงน้ำหนักที่ขาหรือยืนไม่ได้
– บริเวณสะโพกจะรู้สึกขัดๆ มีรอยฟกช้ำ และบวม
– ขาข้างที่สะโพกหักจะสั้น ไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ขาจะหมุนเข้าหรือออก
เมื่อไรที่ผู้สูงอายุหกล้ม และไม่สามารถลุกขึ้นยืน หรือเดินได้ ควรสงสัยก่อน ว่าอาจมีกระดูกสะโพกหัก อย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบายที่สุด และโทรเรียกรถพยาบาล มารับผู้ป่วยไปตรวจรักษาต่อไป

“ภาะแทรกซ้อน”

ผู้ป่วยที่มีกระดูกสะโพกหัก จะไม่สามารถขยับได้มาก ดังนั้นอาจเกิดโรคแทรกซ้อน ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบ การติดเชื้อ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน การผ่าตัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว หรือเดินได้ จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้

“การรักษากระดูกสะโพกหัก”

รักษาโดยวิธีผ่าตัด หลังจากผ่าตัด ควรจะเริ่มให้มีการทำกายภาพบำบัดแต่เนิ่นๆ การรักษาตัวของผู้ป่วยกระดูกสะโพก หักมักใช้ระยะเวลา 12 สัปดาห์ เพื่อที่จะทำให้แผลผ่าตัดหายสนิท แต่โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะเดินได้ดีก่อนที่จะถึง 12 สัปดาห์

“การทำกายภาพบำบัด”

เป็นสิ่งสำคัญยิ่งภายหลังการผ่าตัด เพราะจะทำให้ ร่างกายของผู้ป่วยฟื้นเร็ว ช่วยตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการป้องกัน การเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ หลังจากการผ่าตัด นักกายภาพบำบัดก็จะเตรียมพร้อม ที่จะฟื้นฟูบำบัดผู้ป่วย โดยจะเริ่มจากการค่อยๆ ออกกำลังข้อสะโพก อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากนั้นก็จะให้ผู้ป่วย เริ่มใช้ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า หรือเครื่องช่วยเดินอื่นๆ ผู้ป่วยแต่ละท่านจะมีอาการแตกต่างกันไป ดังนั้นนักกายภาพบำบัดจะตรวจ และให้การรักษาอย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย