โรคข้อเข่าเสือมเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ ด้วยอาการปวดเข่า
“อาการ”
ในช่วงแรกอาการปวดอาจจะดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยพักการทำงาน หรือกินยาแก้ปวดทั่วไป และผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการข้อแข็งในช่วงเช้าๆ ต่อมาเมื่อโรคเป็นมากขึ้น อาการของโรคก็จะแสดงออกชัดขึ้น โดยอาการปวดจะเป็นรุนแรง และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป หรืออาจจะมีรูปร่างของข้อที่ผิดรูป (เข่าโก่ง) เมื่อตรวจร่างกายบริเวณข้อที่ปวด อาจจะไม่พบอาการปวดบวม แดง ร้อน แต่อาจพบว่า การเคลื่อนที่ของข้อลดลงและอาจมีกล้ามเนื้อลีบร่วมด้วย
“ปัจจัยเสี่ยง”
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่ ผู้สูงอายุ, อ้วน, ผู้หญิง, ผู้ที่มีประวัติการทำงานที่ใช้ข้อมากๆ และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคข้อเสื่อม
“การรักษา”
– ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการใช้ยา นอกจากนั้นผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพตนเอง โดยในกรณีที่ผู้ป่วยอ้วน ควรลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัด ลดการใช้ข้อที่มีอาการอักเสบ
– ปรับวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ เพื่อให้อาการปวดทุเลา เช่นการปรับตัวในเรื่องการงอเข่า หลีกเลี่ยงการนั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาส นั่งคุกเข่า ลดระยะทางการเดิน ไม่นั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ และการใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน
– การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีการรักษาที่มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้กล้ามเนื้อที่คอยพยุงข้อแข็งแรงมากขึ้น ทำให้ช่วยปกป้องข้อไม่ให้ผิดท่าหรือทำงานหนักเกินไป
– การรักษาด้วยยา ในกรณีที่อาการปวดไม่รุนแรงอาจใช้ยาแก้ปวดทั่วๆ ไป ได้แก่ พาราเซตามอล แต่ถ้าอาการปวดรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเรื่องการใช้ยาเป็นกรณี
– การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาและกายภาพบำบัดแล้ว อาการไม่ดีขึ้น