โรคไตวายเรื้อรัง

ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่ว ขนาดเท่ากับกำปั้นมือ มีอยู่ 2 ข้าง ตั้งอยู่ที่หลัง ข้างกระดูกไขสันหลัง ทั้ง 2 ข้าง ไตทำหน้าที่ขับน้ำและของเสียจากเลือดออกนอกร่างกาย

โรคไตวาย เกิดจากการที่ไตไม่สามารถขับน้ำเกลื่อแร่ และของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายเสียสมดุลย์

“การดำเนินโรค”

โรคไตวายนี้มักจะมีการดำเนินโรคมักจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไตวายที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง

“อาการ”

ในช่วงแรกของการเกิดโรค ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ ต่อมาผู้ป่วยอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ สะอึกบ่อยๆ คันทั่วร่างกาย เมื่ออาการเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกง่าย ซีด บวม ซึมลงจนหมดสติและชัก และเสียชีวิตในที่สุดได้

“การรักษา”

การรักษาเน้นไปที่การควบคุมป้องกันไม่ให้ไตเสียเร็ว ผู้ป่วยควรจำกัดอาหารบางอย่าง เช่น อาหารเค็ม ผลไม้ และอาหารที่มีโปรตีนสูง ถ้าความดันโลหิตสูงต้องควบคุมให้ดี ยาจะช่วยลดอาการได้บ้าง แต่ไม่มียาอะไรที่จะขับของเสียออกจากร่างกายได้
วิธีที่จะขับของเสียและน้ำออกจากร่างกายได้ คือ การล้างไต หรือเปลี่ยนถ่ายไต

“อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง”

จำกัดอาหารโปรตีน: ปกติแล้วไตจะขับถ่ายยูเรีย ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจาก การเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน ในผู้ป่วยไตวาย ไตจะไม่สามารถขับยูเรียออกได้เท่าคนปกติ ดังนั้นจึงควรจำกัดอาหารโปรตีน เพื่อไม่ให้ยูเรียคั่งในร่างกาย

จำกัดปริมาณเกลือ: ไม่ควรทานอาหารรสเค็ม ทานเกลือได้ไม่เกิน 4-6 กรัม/วัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีของเหลวคั่งในร่างกาย หรือบวม เพราะจะทำให้การควบคุมความดันโลหิตเป็นไปได้ยาก
จำกัดปริมาณน้ำดื่ม: ผู้ป่วยโรคไตวาย จะมีปัญหาด้านการขับน้ำออกจากร่างกายดังนั้นจำเป็นที่จะต้องจำกัดปริมาณน้ำ

จำกัดปริมาณโปแตสเซี่ยม: ผู้ป่วยโรคไตวาย จะขับโปแตสเซี่ยมออกได้ไม่ใคร่ดี และหากมีโปแตสเซียมในร่างกายมากไป จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงกับชีวิต อาหารมีปริมาณโปแตสเซียมสูง และควรพึงระวังคือ กล้วย ส้ม ถั่ว และมันฝรั่ง

จำกัดปริมาณฟอสฟอรัส: ผู้ป่วยโรคไต จะขับฟอสฟอรัสได้น้อย ดังนั้นระดับฟอสฟอรัสในเลือดจะสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมในกระดูก เกิดกระดูกผุบางได้ อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสมากคือ ไข่ ถั่ว นม น้ำอัดลม